บทที่2 เรื่องอิทธิพลของพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม

ความหมายของพันธุกรรม
พันธุกรรม (Heredity) หมายถึง กระบวนการถ่ายทอดลักษณะต่าง ๆ ซึ่งเป็นลักษณะทางด้านชีวภาพทั้งหมดที่สามารถถ่ายทอดได้รวมถึงความบกพร่องของร่างกายบางประการ จากบรรพบุรุษรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่งผ่านกระบวนการทางชีววิทยา (Biological Transmission) ภายในร่างกาย โดยอาศัย ยีน (Gene) เป็นตัวนำ

ความสำคัญของยีนต่อพันธุกรรม
ยีน (Gene) เป็นสารทางชีวเคมีที่ซับซ้อน ที่จะทำหน้าที่บันทึกลักษณะต่าง ๆ ทั้งทางกายและทางจิตใจบางประการเอาไว้ เพื่อทำการถ่ายทอดไปสู่สิ่งมีชีวิตรุ่นใหม่ ซึ่งเปรียบเหมือนกับตัวควบคุมพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตให้มีความใกล้เคียงกับบรรพบุรุษและเผ่าพันธุ์ของตน
สิ่งมีชีวิตทุกชนิดจะประกอบขึ้นจากส่วนที่เล็กที่สุดของร่างกายที่เรียกว่า เซลล์ (Cell) ภายในเซลล์ทุกเซลล์จะมีนิวเคลียส (Nucleus) อยู่ตรงกลางโดยเฉพาะในเซลล์สืบพันธุ์ ซึ่งจะถูกล้อมรอบไปด้วยไซโตปลาสซึม (Cytoplasm) และในส่วนกลางของนิวเคลียสจะประกอบไปด้วยเส้นใยสั้น ๆ เรียกว่า โครโมโซม (Chromosome) และบนโครโมโซมนี่เองที่ ยีน จะเกาะติดอยู่
ในเซลล์สืบพันธุ์ของคนแต่ละเซลล์มีการประมาณจำนวนของยีนว่ามีอยู่ 40,000-60,000 ยีน หมายความว่าในเซลล์ที่ปฏิสนธิแล้วกำลังพัฒนาเป็นเด็กทารกนั้นมีจำนวนประมาณ 2 เท่าของเซลล์สืบพันธุ์หนึ่งเซลล์ นั่นคือ 80,000-120,000 ยีน
ยีนซึ่งเป็นตัวถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ ได้แก่
1. ยีนที่มีลักษณะเด่น (Dominant Genes) เป็นยีนที่เมื่อปรากฏคู่กับยีนอีกตัวแล้ว ยีนตัวนี้สามารถแสดงลักษณะทางพันธุกรรมออกมาได้อย่างเด่นชัด
2. ยีนที่มีลักษณะด้อย (Recessive Genes) เป็นยีนที่ไม่แสดงลักษณะทางพันธุกรรมออกมาให้เห็นเมื่อยีนนี้ปรากฏคู่อยู่กับยีนที่มีลักษณะเด่น แต่จะแสดงลักษณะเมื่อประกบคู่กับยีนที่มีลักษณะด้อยเหมือนกันเท่านั้น
ยีน เป็นสารเคมีประเภทนิวคลีอิกแอซิด (Nucleic Acid) ที่มีชื่อเฉพาะ เรียกว่า ดีออกซิไรโบนิวคลีอิกแอซิด (Deoxyribonucleic Acid) หรือที่รู้จักกันในชื่อ DNA โมเลกุลของ DNA จะมีลักษณะการเรียงตัวเป็นสายยาวย่อยๆ 2 สายพันกันเป็นเหมือนเกลียวเชือกที่เวียนซ้ายทอดตัวไปตามความยาวของโครโมโซม ด้วยการพันกันนี้เองทำให้เกิดรหัสข้อมูลทางพันธุกรรมที่แตกต่างกันออกไปอย่างมากมายมหาศาล ซึ่ง DNA นี้เองยังทำการให้แบบแก่สารที่มีชื่อว่า
ไรโบนิวคลีอิกแอซิด (Ribonucleic Acid) หรือ RNA ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสร้างโปรตีนและเอนไซม์ (Enzymes) ชนิดต่าง ๆ ขึ้นในร่างกาย ทั้งนี้ DNA และ RNA ต่างก็เกาะติดอยู่บนโครโมโซมของในแต่ละเซลล์ การที่สิ่งมีชีวิตมีความแตกต่างกันนั้น ต่างมีสาเหตุมาจากโครงสร้างทางโมเลกุลของ DNA และ RNA ที่แตกต่างกัน

การทำงานของยีนและโครโมโซม
ถ่ายทอดลักษณะรูปแบบของชีวิตด้วยเพื่อไม่ให้เกิดการข้ามสายของเผ่าพันธุ์ เช่น ต้นหอมมี 16 โครโมโซม ผึ้งมี 32 โครโมโซม หนูมี 40 โครโมโซม มนุษย์มี 46 โครโมโซม เป็นต้น การถ่ายทอดทางพันธุกรรมของโครโมโซมนั้นจะสามารถถ่ายทอดได้โดยการผ่านทางอสุจิของพ่อและทางไข่ของแม่ ซึ่งในแต่ละฝ่ายก็จะประกอบไปด้วยจำนวนโครโมโซมฝ่ายละ 23 โครโมโซม ซึ่งโครโมโซมที่จะจับคู่กันได้นั้นจะต้องมีการทำหน้าที่เดียวกัน (Homologous) เท่านั้น เช่น โครโมโซมของสีผมจากพ่อจะจับคู่ได้กับโครโมโซมสีผมจากแม่เท่านั้น เป็นต้น ดังนั้น โครโมโซมในสิ่งมีชีวิตทั้งหมดจะทำงานในลักษณะที่เป็นคู่กันเสมอ เข่น ต้นหอมมีโครโมโซม 8 คู่ ผึ้งมีโครโมโซม 16 คู่ หนูมีโครโมโซม 20 คู่ มนุษย์มีโครโมโซม 23 คู่ เป็นต้น
โครโมโซมของมนุษย์ 23 คู่นั้น สามารถจำแนกได้เป็น 2 ประเภท นั่นคือ
1. ออโตโซม (Autosome) ได้แก่ โครโมโซมตั้งแต่คู่ที่ 1-22 ซึ่งมีหน้าที่ในการกำหนดลักษณะทางร่างกายทั้งหมด ยกเว้นเพศ
2. เซ็กซ์โครโมโซม (Sex Chromosome) ได้แก่ โครโมโซมคู่ที่ 23 ซึ่งทำหน้าที่กำหนดเพศให้แก่เด็กทารกที่เกิดใหม่

อิทธิของยีนที่มีต่อการกำหนดเพศ
เด็กที่เกิดมาไม่ว่าจะชนชาติใดหรือเผ่าพันธุ์ใดก็ตาม จะมีลักษณะที่แสดงความเป็นมนุษย์ครบถ้วนเหมือนกันทั้งหมด เนื่องด้วยได้รับโครโมโซมทั้งจากพ่อและแม่ครบถ้วน ซึ่งมีลักษณะเดียวที่มีความแตกต่างกันนั่คือความเป็นเพศหญิงและความเป็นเพศชาย ซึ่งเป็นไปตามอิทธิพลของเซ็กซ์โครโมโซม หรือโครโมโซมคู่ที่ 23 ซึ่งทำหน้าที่กำหนดลักษณะทางเพศนั่นเอง

กระบวนการกำเนิดชีวิตใหม่
การถือกำเนิดของของชีวิตใหม่นั้นจะต้องอาศัยเซลล์สืบพันธุ์จากฝ่ายชาย ได้แก่ อสุจิ (Sperm) และเซลล์สืบพันธุ์จากฝ่ายหญิง ได้แก่ ไข่ (Ovum) ซึ่งในฝ่ายชายนั้นจะผลิตอสุจิได้ครั้งละประมาณ 500 ล้านตัว ส่วนในฝ่ายหญิงจะผลิตไข่ได้ทั้งสองข้างของปีกมดลูก โดยจะผลิตสลับกันข้างละ 1 ใบต่อเดือน หลังจากที่อสุจิจำนวนหนึ่งได้เดินทางผ่านปากมดลูก สู่ท่อนำไข่ จนไปสู่ปลายของท่อนำไข่ หากในเวลานั้นไข่ของฝ่ายหญิงสุกพอดี อสุจิที่มีความแข็งแรงที่สุดจะเจาะผนังไข่เพื่อฝังหัวเข้าไป และทิ้งส่วนหางไว้ภายนอก เมื่อนั้นผนังไข่ก็จะทำปฏิกิริยาแข็งตัวโดยทันทีเพื่อป้องกันไม่ให้อสุจิตัวอื่น ๆ สามารถเจาะผ่านเข้าไปได้อีก ซึ่งเราเรียกการพบกันระหว่างอสุจิกับไข่นี้ว่า การปฏิสนธิ (Fertilization) เมื่ออสุจิเข้าไปในไข่ได้สำเร็จแล้ว จะทำการสลายผนังเซลล์ส่วนหัวคงเหลือไว้เพียงโครโมโซมจากฝ่ายพ่อชุดหนึ่ง ซึ่งจะทำการจับคู่กับโครโมโซมทางฝ่ายแม่ที่อยู่ภายในไข่อีกชุดหนึ่ง จนเกิดพัฒนาการเป็นสิ่งมีชีวิตซึ่งมีลักษณะตามพันธุกรรมของตนขึ้นมาเซลล์ในรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นหลังจากกระบวนการปฏิสนธิแล้วนั้นเรียกว่า เซลล์ปฏิสนธิ (Zygote) ซึ่งจะมีอัตราการเจริญเติบโตที่รวดเร็วในลักษณะการแบ่งตัวแบบ ไมโตซิส (Meitosis) นั่นคือ มีการแบ่งตัวของเซลล์เป็นลักษณะทวีคูณ คือ จาก 1 เป็น 2 จาก 2 เป็น 4 จาก 4 เป็น 8 จาก 8 เป็น 16 เช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จากการแบ่งเซลล์แบบนี้จะทำให้สารที่มีอยู่ในโครโมโซมของแต่ละเซลล์มีลักษณะที่เหมือนกันมาก การแบ่งตัวของเซลล์ในระยะนี้เป็นไปเพื่อสร้างส่วนต่าง ๆ ให้กับสิ่งมีชีวิตที่กำลังถือกำเนิด โดยดำเนินการไปพร้อมกับการเคลื่อนตัวของไข่จากจุดที่เกิดการปฏิสนธิไปสู่มดลูก ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 5-6 วัน ซึ่งในขณะนี้เองสิ่งมีชีวิตในครรภ์จะมีขนาดเท่าหัวเข็มหมุด โดยประกอบไปด้วยเซลล์เพียง 32-64 เซลล์เท่านั้น ตัวอ่อนในระยะนี้เรียกว่า บลาสโตไซต์ (Blastocyte) ต่อมาในช่วง 2-8 สัปดาห์ให้หลัง เซลล์บางส่วนจะทำการแจกแจงแปรสภาพเป็นอวัยวะต่าง ๆ โดยเนื้อเยื่อที่อยู่ในเซลล์จะทำหน้าที่สร้างอวัยวะตามหน้าที่

การกำเนิดลักษณะแฝด
โดยทั่วไป มนุษย์สามารถตั้งครรภ์เพื่อให้กำเนิดตัวอ่อนทารกได้เพียงครั้งละ 1 คน แต่ในบางรายที่เกิดความผิดปกติจะสามารถให้กำเนิดตัวอ่อนได้มากกว่าหนึ่งคนขึ้นไป การกำเนิดเช่นนี้เรียกว่า การกำเนิดลักษณะแฝด (Twins) ซึ่งเป็นความผิดปกติที่เกิดจากกระบวนการปฏิสนธิและการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ด้วยปัจจัยนี้เองทำให้ลักษณะแฝดมีความคล้ายคลึงทางพันธุกรรมกันมากที่สุด
ความผิดปกติในการเกิดลักษณะแฝดนั้นอาจจำแนกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. ความผิดปกติในเรื่องการแบ่งเซลล์เพื่อพัฒนาเป็นตัวอ่อน
2. ความผิดปกติในเรื่องของการสุกของไข่ ซึ่งเหตุการณ์กำเนิดลักษณะแฝดนี้เกิดขึ้น 1 : 88 ราย
ซึ่งลักษณะแฝดโดยทั่วไปจำแนกได้ 2 ประเภท ได้แก่ แฝดแท้ (Identical Twins) และแฝดเทียม (Fraternal twins)
1. แฝดแท้ (Identical Twins)
แฝดประเภทนี้เกิดขึ้นจากความผิดปกติเรื่องการแบ่งเซลล์ นั่นคือ เมื่ออสุจิ 1 ตัวและไข่ 1 ใบ ปฏิสนธิเป็นไซโกต (Zygote) ซึ่งแทนที่ไซโกตจะมีการแบ่งตัวเป็นทวีคูณแบบไมโตซิส กลับมีการแบ่งตัวเองออกเป็น 2 ไซโกต หรือ 2 กลุ่ม หรือมากกว่านั้น ซึ่งเจริญเติบโตอยู่ในถุงน้ำคร่ำเดียวกัน โดยทั้งนี้แต่ละไซโกตเป็นอิสระต่อกัน
2. แฝดเทียม (Fraternal Twins)
แฝดประเภทนี้เกิดจากความผิดปกติของการตกไข่ ซึ่งโดยปกติแล้วฝ่ายหญิงจะมีการตกไข่ครั้งละหนึ่งใบต่อหนึ่งเดือน ในกรณีที่ฝ่ายหญิงเกิดความผิดปกติในการผลิตไข่ออกมาพร้อม ๆ กันครั้งละหลายใบ และได้รับการปฏิสนธิจากอสุจิคนละตัว และเจริญเติบโตเป็นเด็กทารก แต่เนื่องจากว่าเป็นไข่คนละใบ อสุจิคนละตัว จึงทำให้โครโมโซมที่ปฏิสนธิเป็นไซโกตนั้นเป็นคนละชุดกัน มีผลให้ลักษณะทางพันธุกรรมของแฝดเทียม มีลักษณะเดียวกับพี่น้องพ่อแม่เดียวกัน เพียงแต่เกิดในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกันเท่านั้น

กระบวนการในการถ่ายทอดพันธุกรรม
แม้ว่าเด็กที่เกิดใหม่นั้นจะได้รับการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม ของพ่อและแม่มาฝ่ายละครึ่งก็ตาม แต่ไม่ได้หมายความว่าเด็กจะได้ลักษณะของพ่อและแม่มา 50:50 เห็นได้ว่าเด็กบางคนอาจมีลักษณะที่เหมือนฝ่ายพ่อหรือฝ่ายแม่เป็นส่วนใหญ่ หรือในบางคนอาจไม่เหมือนทั้งพ่อและแม่ แต่กลับไปเหมือนบรรพบุรุษของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่จะเป็นในลักษณะใดนั้นขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์ของลักษณะเด่น (Dominant) และลักษณะด้อย (Recessive) เช่น ถ้าพ่อมีลักยิ้ม (ลักษณะเด่น) มาแต่งงานกับแม่ซึ่งไม่มีลักยิ้ม (ลักษณะด้อย) ลักษณะพันธุกรรมลักยิ้มของพ่อจะข่มลักษณะพันธุกรรมของแม่ ทำให้ลูกของพ่อแม่คู่นี้มีลักยิ้มเหมือนพ่อ เป็นต้น ซึ่งลักษณะเด่นและด้อยบางประการ
ในการศึกษาเกี่ยวกับลักษณะเด่นและลักษณะด้อยนั้น จะต้องศึกษาถึงปฏิกิริยาร่วมกันระหว่างยีนทั้งสองชนิด ซึ่งปรากฏออกมาเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่
1. ฟีโนไทป์ (Phenotype)
หมายถึง ลักษณะหรือคุณสมบัติทางพันธุกรรมที่แสดงออกมาให้เห็นในรุ่นลูกรุ่นหลาน ทั้งลักษณะภายนอกที่สังเกตเห็นได้ เช่น สีตา สีผม สีผิว รูปร่างหน้าตา และลักษณะภายใน เช่น กลุ่มเลือด เป็นต้น ฟีโนไทป์ของแต่ละบุคคลเป็นผลมาจาก
1) โครโมโซมที่ทำหน้าที่เดียวกันมาจับคู่กันในไซโกต
2) การเกิดปฏิกิริยาร่วมกันของยีนตามอิทธิพลของลักษณะเด่นและลักษณะด้อย
3) อิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมหลังการปฏิสนธิ
2. จีโนไทป์ (Genotype)
หมายถึง ลักษณะทางพันธุกรรมทั้งหมดที่ได้รับมาจากบรรพบุรุษ โดยการสืบทอดต่อกันมาเรื่อย ๆ เป็นในลักษณะของการแอบแฝง ไม่ปรากฏออกมาให้เห็น เพื่อให้เกิดความเข้าใจในลักษณะของฟีโนไทป์และลักษณะของจีโนไทป์

สิ่งแวดล้อม (Environment) หมายถึง สิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวบุคคล ทำหน้าที่เป็นสิ่งเร้าในอันที่จะทำให้บุคคลแสดงปฏิกิริยาตอบสนอง และมีอิทธิพลต่อพัฒนาการของบุคคลนั้นๆ
ในทางจิตวิทยานั้น สิ่งแวดล้อม คือผลรวมของการกระตุ้นจากสิ่งเร้าที่บุคคลได้รับ และมีผลกระทบต่อบุคคลนั้นตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิจนกระทั่งเสียชีวิต
สิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลต่อความเจริญงอกงามหรือความเสื่อมต่อพัฒนาการของบุคคลได้เป็นอย่างยิ่ง อิทธิพลของสิ่งแวดล้อมมีผลกระทบต่อเราได้ 2 ลักษณะ คือ
1. มีอำนาจบังคับต่อบุคคลโดยตรง ไม่ว่าบุคคลนั้นสนใจที่จะเรียนรู้เพื่อปฏิบัติหรือไม่ สิ่งแวดล้อมเหล่านี้ ได้แก่ ธรรมชาติ อุณหภูมิ อากาศ อาหาร เป็นต้น
2. บุคคลเกิดการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมนั้นๆ แล้วนำมาปฏิบัติ สิ่งแวดล้อมเหล่านี้ ได้แก่ พฤติกรรมทางสังคม ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม ศาสนา กฎหมาย เป็นต้น
ประเภทของสิ่งแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อบุคคล
สิ่งแวดล้อมนั้นมีอิทธิพลต่อพัฒนาการของบุคคลนับตั้งแต่ปฏิสนธิไจวบจนเสียชีวิต ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

ในทางจิตวิทยานั้นสามารถจำแนกประเภทของสิ่งแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อบุคคลออกได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้
1. สิ่งแวดล้อมก่อนเกิด
หมายถึง สิ่งแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อบุคคลตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิมาจนกระทั่งถึงกำหนดคลอด ดังนั้น อิทธิพลของสิ่งแวดล้อมก่อนเกิดนั้นจึงขึ้นอยู่กับสุขภาพของมารดาเป็นสำคัญ อันได้แก่
1) การบริโภคอาหารของมารดา (Maternal Nutrition) อาหารที่ตัวอ่อนจะได้รับนั้นจะผ่านจากมารดาโดยอาศัยสายรก ดังนั้นในระยะนี้มารดาควรได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน เพื่อให้เกิดพัฒนาการที่ดีสำหรับตัวอ่อนในครรภ์ อาหารที่เป็นพิษกับพัฒนาการของทารกควรหลีกเลี่ยง
2) ยา (Drug) ในระหว่างการตั้งครรภ์ การใช้ยาควรอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เพราะยาบางชนิดอาจมีผลกระทบต่อความผิดปกติของทารกในครรภ์ได้
3) บุหรี่และสุรา (Tabacco and Alcohol) มารดาที่สูบบุหรี่มากระหว่างการตั้งครรภ์อาจมีผลให้ทารกมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ เกิดการคลอดก่อนกำหนด หรืออาจถึงแท้งได้ในโอกาสที่สูงถึง 2.5 เท่า 4) สารกัมมันตภาพรังสี (X-ray and Radium) ในระหว่างตั้งครรภ์ควรเลี่ยงการรับรังสี X-ray โดยเด็ดขาดเนื่องจากมีผลต่อการเจริญเติบโตและการแบ่งตัวของเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย ส่งผลถึงร่างกายและเม็ดเลือดได้
5) สุขภาพของมารดา (Maternal Health) การเจ็บป่วยของมารดาในระยะ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ มีผลต่อทารกในครรภ์ได้โดยตรง เช่น ไวรัสหัดเยอรมัน (German Measier) ทำให้มีโอกาสแท้งสูงมาก
6) อุบัติเหตุ (Accident) ต่าง ๆ ในขณะตั้งครรภ์
ตัวมารดาและผู้ใกล้ชิดจึงควรระวังไม่ให้เกิดการเสี่ยง ต่อการเกิดเหตุการณ์ที่อันอาจเป็นอันตรายได้
7) สุขภาพจิตของมารดา (Mental Health) ถึงแม้ว่าจะไม่มีเส้นประสาทเชื่อมโยงความรู้สึกจากมารดาไปสู่ทารกในครรภ์ก็ตาม แต่เป็นที่ยอมรับในวงการแพทย์ว่า สุขภาพจิตของมารดาจะส่งผลต่อสุขภาพของทารกในครรภ์โดยตรง
2. สิ่งแวดล้อมขณะกำลังเกิด

หมายถึง สิ่งแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อทารกตั้งแต่เริ่มคลอดจากครรภ์ ซึ่งในช่วงเวลานี้แม้จะไม่กินเวลานานนัก แต่ปัญหาบางประการก็อาจจะทำให้เกิดการกระทบกระเทือนต่อทารกได้ง่าย ได้แก่
1) ถ้ามีการกระทบกระเทือนต่อระบบการไหลเวียนโลหิตในร่างกายโดยเฉพาะส่วนสมอง เช่น รกพันคอ หรือเชิงกรานของแม่เล็กเกินไป หรือศีรษะของทารกโตเกินไป ทำให้สมองของทารกขาดออกซิเจน หากขาดออกซิเจนนาน 18 วินาที อาจมีผลกับระบบการเห็น การพูด การได้ยิน และถ้าหากนานเกิน 5-8 นาที เซลล์สมองจะถูกทำลาย ทำให้เป็นปัญญาอ่อนได้
2) ถ้าสมองของทารกได้รับการกระทบกระเทือนจากการทำคลอดของแพทย์ เช่น การใช้คีมคีบขมับ หรือใช้เครื่องสูญญากาศดูดศีรษะทารก ถ้ารุนแรงเกินไปจะทำให้สมองได้รับความระทบกระเทือนได้
3) ในกรณีที่ช่องคลอดมารดาติดเชื้อกามโรคโกโนเรีย (Gonorrhea) หรือหนองใน เชื้อโรคจะทำลายเยื่อบุนัยน์ตาของทารกได้
3. สิ่งแวดล้อมหลังคลอด
หมายถึง สิ่งแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อบุคคลนับตั้งแต่คลอดออกมาจากครรภ์มายังโลกภายนอก สิ่งแวดล้อมเหล่านี้ ได้แก่
1) สถาบันครอบครัว ครอบครัวถือว่าเป็นสถาบันแห่งแรกที่มีความสำคัญต่อพฤติกรรมของบุคคลในด้านต่าง ๆ เช่น วิธีการอบรมเลี้ยงดู สถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคม ความมุ่งหมายของพ่อแม่ เป็นต้น
2) สถาบันการศึกษา เป็นสิ่งที่สำคัญรองลงมาจากสถาบันครอบครัว เพราะครอบครัวเป็นแหล่งที่สร้างพฤติกรรม ส่วนสถานศึกษาจะเป็นแหล่งหล่อหลอมพฤติกรรมของบุคคลในการใช้ชีวิตในสังคม ไม่ว่าจะเป็นบุคลิกภาพของครู บรรยากาศในสถานศึกษา เพื่อนร่วมสถาบันการศึกษา หลักสูตร วิธีการสอนของสถาบัน เป็นต้น
3) สถาบันศาสนา มีหน้าที่เป็นเสมือนเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ และมีบทบาทในการกำหนดพฤติกรรมการแสดงออกของบุคคลในศาสนานั้น ๆ อีกด้วย เนื่องจากอิทธิพลทางศาสนาจะมีผลต่อจิตใจและศรัทธาสูงมาก
4) สถาบันสื่อมวลชน ในปัจจุบันต้องเป็นที่ยอมรับว่าสื่อมวลชนประเภทต่าง ๆ มีบทบาทอย่างมากต่อสังคม จึงมีอิทธิพลต่อการกำหนดพฤติกรรมของบุคคลที่เป็นสมาชิกในสังคมนั้น ๆ ทั้งทางบวกและทางลบ

อิทธิพลของพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมที่มีต่อความแตกต่างของบุคคลในด้านต่างๆ
1. ความแตกต่างทางด้านร่างกาย (Physical)
เป็นความแตกต่างที่เห็นได้เด่นชัดที่สุด ซึ่งรับอิทธิพลมาจากพันธุกรรมเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเราสามารถจำแนกความแตกต่างทางด้านร่างกายของแต่ละบุคคล ได้แก่
1) ลักษณะโครงสร้างทางร่างกาย เช่น ลักษณะสีผิว
หน้าตา ลักษณะรูปร่าง ฯลฯ ซึ่งจะเป็นไปตามลักษณะโครงสร้างตามเผ่าพันธุ์ที่แตกต่างกัน
2) เพศ ทารกที่เกิดใหม่จะได้รับอิทธิพลทางเพศมาจาก เซ็กซ์โครโมโซม โดยตรง ซึ่งสรีระของชายและหญิงก็จะปรากฏความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด
3) ชนิดของกลุ่มโลหิต โดยปกติแล้วมนุษย์จะมีกลุ่มโลหิตเพียง 4 กลุ่ม คือ A, B, O และ AB ซึ่งบุคคลใดจะมีโลหิตกลุ่มใดขึ้นอยู่กับพันธุกรรมจากบิดาและมารดาของตนดังตาราง
4) การทำงานของอวัยวะภายใน มีการทำงานของระบบภายในร่างกายที่ได้รับการยืนยันว่าสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ เช่น ความดันเลือด เป็นต้น
5) ลักษณะของโรคภัยไข้เจ็บ และข้อบกพร่องทางร่างกายบางประการที่เกิดจากพันธุกรรม เช่น ตาบอดสี โรคเลือดไหลไม่หยุด ลมบ้าหมู ธาลัสซีเมีย เบาหวาน นิ้วเกิน นิ้วติด ผิวเผือก เป็นต้น
2. ความแตกต่างทางด้านสติปัญญา (Intelligence)
เฮนรี่ อี. ก็อดดาร์ด (Henrey E. Goddard) ได้ทำการรวบรวมข้อมูลของตระกูลหนึ่งซึ่งเพื่อความเหมาะสมจึงให้การสมมติชื่อขึ้น โดยศึกษาย้อนหลังไปกว่า 50 ปี ซึ่งนับว่าเป็นการศึกษาอิทธิพลของพันธุกรรมที่มีต่อสติปัญญาของบุคคลที่ได้รับการยอมรับและกล่าวถึงกันมากในแวดวงจิตวิทยา
3. ความแตกต่างด้านอารมณ์ (Emotion)
เคิรตช์และครัตช์ฟิลด์ (Kretch and Crutchfield) เชื่อว่าอารมณ์เป็นสัญชาตญาณที่ติดตัวมากับมนุษย์แต่กำเนิดอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะอารมณ์พื้นฐาน (Primary Emotion) ได้แก่ รัก โกรธ เกลียด กลัว ร่าเริง เศร้า สนุกสนาน เป็นต้น ซึ่งอารมณ์เหล่านี้ถูกถ่ายทอดมาจากยีนบรรพบุรุษของมนุษย์ ดังนั้น คนเราจึงมีอารมณ์พื้นฐานเหมือนกันทั้งสิ้น เพียงแต่มีการแสดงออกทางอารมณ์ที่แตกต่างกัน เช่น บางคนเมื่อโกรธก็จะขว้างปาสิ่งของ หรือบางคนอาจแสดงออกแค่การกำมือแน่น เป็นต้น ซึ่งเป็นไปตามอิทธิพลของสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการเลี้ยงดูของพ่อแม่ นอกจากอารมณ์พื้นฐานแล้วยังมีอารมณ์บางส่วนที่เกิดจากการเรียนรู้ภายหลัง เช่น อิจฉา ใจร้อน ใจเย็น ตลกขบขัน เป็นต้น
4. ความแตกต่างทางสังคม (Social)
ความแตกต่างทางสังคม หมายถึง ความแตกต่างด้านการแสดงออกทางพฤติกรรมการอยู่ร่วมกันกับบุคคลอื่นในสังคม ได้แก่ การสร้างสัมพันธภาพกับสมาชิกอื่นในสังคม การวางตัว และการปรับตัว เป็นต้น ซึ่งพฤติกรรมที่แสดงออกมาจะเป็นในทางบวกหรือลบในระดับใดนั้น ขึ้นอยู่กับสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมที่บุคคลเติบโตมา โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมในสถาบันครอบครัว
5. ความแตกต่างด้านบุคลิกภาพ (Personality)
บุคลิกภาพ หมายถึง ลักษณะเฉพาะของบุคคลที่แสดงออกมาทั้งทางร่างกายและจิตใจ ด้วยเหตุนี้บุคลิกภาพของแต่ละบุคคลจึงแตกต่างกันไป นักจิตวิทยาเชื่อว่าบุคลิกภาพเป็นพฤติกรรมโดยส่วนรวมที่ได้สั่งสมกันมาเป็นเวลายาวนาน ดังนั้น บุคลิกภาพจึงได้รับอิทธิพลมาจากสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนใหญ่ แต่ทั้งนี้ สิ่งแวดล้อมในแต่ละสังคมมีความแตกต่างกัน โดยปัจจัยที่
แตกต่างในสภาพแวดล้อมทำให้บุคลิกภาพของแต่ละบุคคล ถูกหล่อหลอมให้มีความแตกต่างกันไป อย่างไรก็ตาม แม้บุคลิกภาพจะเป็นสิ่งที่สั่งสมมาตั้งแต่เด็ก จนกระทั่งกลายเป็นนิสัยและความเคยชินก็ตาม แต่บุคคลก็สามารถพัฒนาบุคลิกภาพที่ไม่พึงประสงค์ให้ดี